ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตของชาวเมือง

ออฟฟิศซินโดรม คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด รวมถึงอาการปวดหรือชาจากอาการอักเสบจากเนื้อเยื่อและเอ็น มักเกิดขึ้นกับกลุ่มวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศหรือทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์และมือถือเป็นประจำ

เรียกได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตของคนทำงานเลยก็ว่าได้ค่ะ สำหรับออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเจ้าอาการออฟฟิศซินโดรม มักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานาน ไม่ค่อยได้เปลี่ยนท่าทาง รวมถึงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ การนั่งตัวงอ หรือการก้มหน้านานๆ เป็นต้น ทำให้กล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานซ้ำๆ มีการหดเกร็ง หรือยืดค้างในรูปแบบเดิมบ่อยๆ จนกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ เกิดการบาดเจ็บ หรืออาจขมวดเป็นก้อนตึง และเกิดอาการปวดตามมา

ซึ่งอาการในกลุ่มออฟฟิศซินโดรมที่มักจะเกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้  อาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด อาการเส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดทับ อาการนิ้วล็อค อาการเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ อาการตาแห้ง และอาการปวดหลัง เป็นต้น

แม้อาการออฟฟิศซินโดรมเองจะไม่ได้ร้ายแรงอะไร เพียงแต่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น  แต่ออฟฟิศซินโดรมเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้  ไม่ว่าจะเป็น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด แขนขาอ่อนแรง หรือโรคอื่นๆ อีกมากมาย และในกรณีที่รุนแรงมากอาจทำให้กล้ามเนื้อหด ยึด ตึง โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งหากเกิดโรคเหล่านี้และรักษาด้วยการกายภาพบำบัดไม่ได้ผล ผู้ป่วยจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยอยากมีใครอยากเลือกเท่าไหร่นัก เพราะทางเลือกที่จะต้องผ่าตัดนั้น เรียกได้ว่า เป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงสูงทั้งในเรื่องของการเสียทั้งเงินทั้งเวลา

โดยใครที่ไม่อยากประสบกับปัญหา ออฟฟิศซินโดรม ต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราเอง  ทั้งการปรับโต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะกับสรีระของตนเอง  พยายามปรับเปลี่ยนท่าทางอิริยาบทบ่อยๆ ไม่นั่งท่าเดิมนานๆ  รู้จักพักสายตา มองสิ่งอื่นให้ผ่อนคลาย ลดการใช้โทรศัพท์เป็นเวลานานๆ  หากจำเป็นต้องนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานให้พักสายตา ลุกขึ้นมายืดเหยียดร่างกายบ้าง และที่สำคัญอย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เท่านี้ปัญหาออฟฟิศซินโดรมก็จะไม่เกิดกับเราอีกต่อไป